วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 ทรัพยากรธรรมชาติ

ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ
          ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural resources) หมายถึงสิ่งที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติหรือสิ่งที่ขึ้นเอง อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์และธรรมชาติด้วยกันเอง  ถ้าสิ่งนั้นยังไม่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ ก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติ 
          ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติมักจะมองในแง่ที่ว่า เป็นสิ่งอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรเลยก็คงไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีการจัดประเภททรัพยากรธรรมชาติไว้หลายประเภทด้วยกัน เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า แร่ธาตุ ฯลฯ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
          การใช้คำว่า "ทรัพยากรธรรมชาติ" และคำว่า "สิ่งแวดล้อม" บางครั้งผู้ใช้อาจจะเกิดความสับสนไม่ทราบว่าจะใช้คำไหนดี จึงน่าพิจารณาว่าคำทั้งสองนี้มีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันอย่างไร ในเรื่องนี้ เกษม จันทร์แก้ว (2525:7-8) ได้เสนอไว้ดังนี้
          1. ความคล้ายคลึงกัน ในแง่นี้พิจารณาจากที่เกิด คือ เกิดขึ้นตามธรรมชาติเหมือนกัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์เช่นกัน มนุษย์รู้จักใช้ รู้จักคิดในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ และมนุษย์อาศัยอยู่ในทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ก็ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ แล้วมนุษย์ก็เรียกสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดว่า "สิ่งแวดล้อม" ความคล้ายคลึงกันของคำว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม
          2. ความแตกต่าง ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่สิ่งแวดล้อมนั้นประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ หากขาดทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์จะไม่สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้เลย
          ถ้าแยกมนุษย์ออกมาในฐานะผู้ใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงควรใช้คำว่า "ทรัพยากรธรรมชาติ" แต่ถ้าต้องการกล่าวรวม ๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ควรใช้คำว่า "สิ่งแวดล้อม" แต่ถ้าต้องการเน้นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ก็ควรใช้คำว่า "ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" 
เมื่อกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ คน จะเข้าใจถึงเรื่องของน้ำเสีย ควันพิษในอากาศ ไอเสียจากรถยนต์ ขยะมูลฝอย ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริง สิ่งแวดล้อม มีความหมายกว้างมาก มีความสัมพันธ์กับทุก ๆ สิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ใน Module นี้ จะสนทนากัน ในเรื่องของคน มีความสัมพันธ์กับ สิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยที่ตระหนักอยู่เสมอว่า ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาเรื่อง ความสมดุลย์ของ ธรรมชาติกับคนยังไม่มี คนส่วนใหญ่ในยุคต้น ๆ จึงมีชีวิตอยู่ใต้ อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลง ทางด้านธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม มีลักษณะที่ ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ทางสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่เนื่องจาก มีความเจริญก้าวหน้า ด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ขยายตัวมากขึ้น ประกอบด้วย ความต้องการของมนุษย์ มีอยู่ไม่จำกัด จึงทำให้เกิดปัญหา ทางด้านสิ่งแวดล้อม ขึ้นในโลกสีเขียวของเรา เช่น ปัญหาทางด้าน ภาวะมลพิษทางเสียและน้ำ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ เสื่อมสลาย ปัญหาการตั้งถิ่นฐาน และชุมชน ดังนั้น จึงมีความจำเป็น ที่จะต้องกล่าวถึง มนุษย์กับความสัมพันธ์ กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร






ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
          การแบ่งประเภทของทรัพยากรธรรมชาติมีการแบ่งกันหลายลักษณะ แต่ในทีนี้ แบ่งโดยใช้เกณฑ์ของการนำมาใช้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
          1. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดสิ้น (Inexhaustible natural resources) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีมนุษย์ เมื่อมีมนุษย์เกิดขึ้นมาสิ่งเหล่านี้ก็มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ จำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
              1.1 ประเภทที่คงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง (Immutuable) ได้แก่ พลังงานจากดวงอาทิตย์ ลม อากาศ ฝุ่น แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตามสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงมีไม่เปลี่ยนแปลง
              1.2 ประเภทที่มีการเปลี่ยนแปลง (Mutuable) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการใช้ประโยชน์อย่างผิดวิธี เช่น การใช้ที่ดิน การใช้นำโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ และด้านคุณภาพ
          2. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วทดแทนได้ (renewable natural resources) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไปแล้วสามารถเกิดขึ้นทดแทนได้ ซึ่งอาจจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กันชนิดของทรัพยากรธรรมชาติประเภทนั้น ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วทดแทนได้ เช่น พืช ป่าไม้ สัตว์ป่า มนุษย์ ความสมบูรณ์ของดิน คุณภาพของน้ำ และทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นต้น
          3. ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (Recycleable natural resources) เป็นทรัพยากรธรรมชาติจำพวกแร่ธาตุที่นำมาใช้แล้วสามารถนำไปแปรรูปให้กลับไปสู่สภาพเดิมได้ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่อีก (อู่แก้ว ประกอบไวยกิจ เวอร์,2525:208) เช่น แร่โลหะ แร่อโลหะ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม แก้ว ฯลฯ
          4. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดสิ้นไป (Exhausting natural resources) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาใช้แล้วจะหมดไปจากโลกนี้ หรือสามารถเกิดขึ้นทดแทนได้ แต่ต้องใช้เวลายาวนานมาก ทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ 
และถ่านหิน เป็นต้น





ความสำคัญและผลกระทบของทรัพยากรธรรมชาติ
          ทรัพยากรธรรมชาติมีความสำคัญต่อมนุษย์มากมายหลายด้านดังนี้
          1. การดำรงชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นกำเนิดของปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์พบว่า มนุษย์จะต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการทางด้านปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
              -     อาหารที่มนุษย์บริโภคแรกเริ่มส่วนหนึ่งได้จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เผือก มัน ปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม เป็นต้น
              -     เครื่องนุ่งห่ม แรกเริ่มมนุษย์ประดิษฐ์เครื่องนุ่งห่มจากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น จากฝ้าย ป่าน ลินิน ขนสัตว์ ฯลฯ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการเครื่องนุ่งห่มก็เพิ่มขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ เพื่อการทำเครื่องนุ่งห่มเอง และในที่สุดก็ทำเป็นอุตสาหกรรม
              -     ที่อยู่อาศัย การสร้างที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่าง ๆ จะพยายามหาทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบหลักในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ในเขตทะเลทรายที่แห้งแล้ง บ้านที่สร้างขึ้นในเขตภูเขาจะทำด้วยดินเหนียว แต่ถ้าเป็นบริเวณที่แห้งแล้ง และไร้พืชพรรณธรรมชาติ บ้านที่สร้างขึ้นอาจจะเจาะเป็นอุโมงค์เข้าไปตามหน้าผา บ้านคนไทยในชนบทสร้างด้วยไม้ ไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยจากหรือหญ้า เป็นต้น
              -     ยารักษาโรค ตั้งแต่สมัยโบราณมนุษย์รู้จักนำพืชสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค เช่น คนไทยใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคหวัด หอบ หืด หัวไพล ขมิ้น น้ำผึ้งใช้บำรุงผิว
          2. การตั้งถิ่นฐานและการประกอบอาชีพ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานในการตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพของมนุษย์ เช่น แถบลุ่มแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชและสัตว์ จะมีประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรมประมง เป็นต้น
          3. การพัฒนาทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
          4. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การประดิษฐ์เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร เครื่องผ่อนแรง ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ
          5. การรักษาสมดุลธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยในการรักษาสมดุลธรรมชาติ 

กิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่
          1. กิจกรรมทางด้านอุตสหกรรม โดยไม่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการนำใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ มีการเปิดหน้าดิน ก่อให้เกิดปัญหาการชะล้าง พังทลายของดิน และปัญหาน้ำทิ้ง จากเหมืองลงสู่แหล่งน้ำ ก่อให้เกิดพลพิษทางน้ำ
          2. กิจกรรมทางการเกษตร เช่น มีการใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกิดอันตราย ต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของมนุษย์ เนื่องจากมีการสะสมสารพิษ ไว้ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดอันตราย ในระยะยาวและเกิดความสูญ ทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการเจ็บป่วย ของประชาชน และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง
          3. กิจกรรมการบริโภคของมนุษย์ ส่งผลให้ มีการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ขาดการคำนึงถือสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดปัญหา สิ่งแวดล้อมตามมา เช่น ปริมาณขยะที่มากขึ้น จากการบริโภคของเรานี้ ที่มากขึ้นซึ่งยากต่อการกำจัด โดยเกิดจาการใช้ทรัพยากร อย่างไม่คุ้มค่า ทำให้ปริมาณทรัพยากรธรรมชาติ ลดน้อยลง เป็นต้น




 สาเหตุที่มนุษย์ลำบายสิ่งแวดล้อมมีหลายสาเหตุดังนี้
          1. การเพิ่มของประชากร การเพิ่มของประชากรโลก เป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเจริญ ทางด้านการแพทย์ ช่วยลดอัตราการตาย โดยการเพิ่มประชากรนี้ ก่อให้เกิดการบริโภคทรัพยากรมากขึ้น มีของเสียมากขึ้น
          2. พฤติกรรมการบริโภค อันเนื่องมาจาก ต้องการให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุขสบาย มากขึ้น มีการนำใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างสิ้นเปลือง มีขยะและของเสียมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมและตัวมนุษย์เอง
          3. ความโลภของมนุษย์ โดยนำทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมาใช้ เพื่อให้ตนเองมีความร่ำรวย มีความสะดวกสบาย มีความเห็นแก่ตัว ขาดสติยั้งคิด ถึงสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นผลส่งให้เกิดปัญหา สิ่งแวดล้อม ที่มากระทบต่อมนุษย์เองในที่สุด
          4. ความไม่รู้ สิ่งที่ทำให้มนุษย์ ขาดการรู้เท่าทัน บนรากฐานแห่งความจริง อย่างลึกซึ้งใน สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ ส่งผลให้มนุษย์ขาดสต ิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีพฤติกรรมการบริโภค อันเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยขาดการคาดการณ์ ผลที่จะเกิดตามมา จะส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่ง แวดล้อม และนำไปสู่ความเสียหาย ทั้งตนเองและธรรมชาติ











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น